สวัสดีครับ ก่อนหน้านี้ผมได้แนะนำ Remote Server Administration Tools (RSAT) ซึ่งเป็นเครื่องมือสำหรับใช้จัดการ Windows Server จากระยะไกลด้วยเครื่องลูกข่ายคอมพิวเตอร์ Windows ไปแล้ว (อ่านได้ที่นี่) ซึ่งอาจจะมีบางคนสงสัยว่าแล้ว RSAT นั้นแตกต่างกับลูกข่ายเดสก์ท็อประยะไกล (Remote Desktop Client หรือ RDC) อย่างไร? วันนี้ผมจึงทำการเปรียบเทียบจุดเด่นและจุดด้อยของเครื่องมือ 2 ตัวนี้ เพื่อให้ท่านที่เป็นผู้ดูแลระบบ Windows Server ใช้เป็นข้อมูลประกอบในการพิจารณาเลือกใช้งานต่อไปครับ
เปรียบเทียบ Remote Server Administration Tools กับ Remote Desktop Client
สำหรับท่านที่สงสัยว่า RSAT มีข้อแตกต่างกับลูกข่ายเดสก์ท็อประยะไกลอย่างไร? ผมขอเปรียบเทียบให้เห็นความแตกต่างในประเด็นสำคัญ 6 ข้อ ดังต่อไปนี้ ครับ
การติดตั้งและการคอนฟิก
เครื่องมือสองตัวนี้มีความแตกต่างอย่างชัดเจนในด้านการติดตั้งและการคอนฟิก เนื่องจาก RSAT ไม่ได้ติดตั้งมาพร้อม Windows ดังนั้นคุณจะต้องทำการติดตั้งเองและต้องใช้เวอร์ชันที่เหมาะสมกับเวอร์ชันลูกข่ายและแม่ข่าย Windows อีกด้วย สำหรับผู้ใช้ Windows 8.1 สามารถดาวน์โหลด Remote Server Administration Tools for Windows 8.1 ได้ฟรีจากศูนย์ดาวน์โหลดไมโครซอฟท์ (ต้องดาวน์โหลดเวอร์ชันที่เหมาะสมกับรุ่นของ Windows 8.1 นะครับ) ในขณะที่ลูกข่ายเดสก์ท็อประยะไกลนั้นถูกติดตั้งให้มาพร้อม Windows จึงสามารถใช้งานได้ทันทีโดยไม่ต้องติดตั้งเอง
สำหรับด้านการคอนฟิกนั้น RSAT มีการคอนฟิกที่ค่อนข้างซับซ้อนจึงจะสามารถใช้งานได้ และจะต้องทำการคอนฟิกทั้งบนเครื่องลูกข่ายและแม่ข่าย (อ่านได้ที่นี่) ส่วนลูกข่ายเดสก์ท็อประยะไกลนั้นเพียงแค่เปิดบริการเดสก์ท็อประยะไกลบนเซิร์ฟเวอร์และคอนฟิก Windows Firewall บนเซิร์ฟเวอร์ให้อนุญาตให้ทราฟิกเดสก์ท็อประยะไกลผ่านได้ (ที่อ่านได้นี่) เพียงเท่านี้ก็สามารถใช้งานได้
สามารถอ่านเรื่องเดสก์ท็อประยะไกลเพิ่มเติมได้จากเรื่อง แนะนำ Remote Desktop Client บน Windows 8.1
การรองรับเวอร์ชันของ Windows Server
เป็นอีกประเด็นที่มีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน โดย RSAT นั้นจะผูกติดกับระบบปฏิบัติการ Windows ทั้งด้านของลูกข่ายและแม่ข่าย ตัวอย่างเช่น RSAT เวอร์ชันสำหรับ Windows 8.1 สามารถใช้จัดการ Windows Server 2012 R2 หรือเก่ากว่าได้ แต่ RSAT เวอร์ชันสำหรับ Windows 7 นั้นสามารถใช้จัดการ Windows Server 2008 R2 หรือเก่ากว่าเท่านั้น ส่วนลูกข่ายเดสก์ท็อประยะไกลนั้นสามารถใช้งานได้ยืดหยุ่นมากกว่า นั้นคือ คุณสามารถใช้ลูกข่ายเดสก์ท็อประยะไกลบน Windows 7 จัดการ Windows Server ได้ตั้งแต่เวอร์ชัน 2003 ไปจนถึง 2012 R2 ได้
การรองรับ Windows Server โหมด Server Core
ถ้าหากคุณใช้งาน Windows Server โหมด Server Core และต้องการจัดการเซิร์ฟเวอร์ด้วยเครื่องมือแบบกราฟิก RSAT น่าจะตอบโจทย์ให้คุณได้เพราะมันได้จัดเตรียมเครื่องมือแบบกราฟิกไว้ให้คุณใช้งานหลายตัวด้วยกัน เช่น Server Manager และ DNS Server Tools เป็นต้น (ดูรายชื่อทั้งหมดได้จากรูปประกอบด้านล่าง) และยังมีเครื่องมือแบบกราฟิกของ Sever Manager อีกหลายตัว (อยู่ในเมนู Tools) ให้คุณใช้งาน เช่น Active Directory Administrative Center, Active Directory Domains and Trusts, Active Directory Sites and Services, Hyper-V Manager และ Windows PowerShell เป็นต้น
ส่วนการจัดการ Server Core ด้วยลูกข่ายเดสก์ท็อประยะไกลนั้นคุณต้องใช้บรรทัดคำสั่งหรือ Windows PowerShell เป็นหลักครับ
รายชื่อเครื่องมือใน RSAT
การใช้งานร่วมกับโปรแกรมอื่นๆ
กรณีการจัดการเซิร์ฟเวอร์จากเครื่องลูกข่ายคอมพิวเตอร์ Windows นั้นการทำงานร่วมกับโปรแกรมอื่นๆ เป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาด้วยเช่นกัน สำหรับ RSAT นั้นมีเครื่องมือสำหรับจัดการ Windows Server ในตัวทำให้การใช้งานให้ความรู้สึกเหมือนการใช้โปรแกรมบนเครื่อง (Seamless) และการสลับการทำงานกับโปรแกรมอื่นๆ เช่น IE, Word เป็นต้น ทำได้สะดวกรวดเร็ว ส่วนลูกข่ายเดสก์ท็อประยะไกลนั้นไม่มีเครื่องมือสำหรับจัดการเครื่องเซิร์ฟเวอร์ในตัวทำให้ต้องใช้เครื่องมือบน Windows Server ส่วนการสลับการทำงานกับโปรแกรมอื่นๆ ทำได้ไม่ค่อยสะดวกนัก โดยเฉพาะถ้ามีการเชื่อมต่อกับเซิร์ฟเวอร์พร้อมกันหลายตัว
RSAT บน Windows 8.1
RDC บน Windows 8.1
การจัดการเซิร์ฟเวอร์หลายตัวจากหน้าต่างเดียว
ปกติแล้วผู้ดูแลระบบจะมีเซิร์ฟเวอร์ในความดูแลหลายตัว ดังนั้นถ้าหากสามารถจัดการเซิร์ฟเวอร์ทั้งหมดได้จากหน้าต่างเดียวจะทำให้การทำงานมีความสะดวกมากขึ้น ซึ่ง RSAT นั้นสามารถจัดการ Windows Server หลายตัวได้ในหน้าต่างเดียวทำให้การสลับไป-มาระหว่างเซิร์ฟเวอร์ทำได้ง่ายและรวดเร็ว ส่วนลูกข่ายเดสก์ท็อประยะไกลนั้นจะจัดการ Windows Server ได้เพียงตัวเดียวต่อการเชื่อมต่อ ดังนั้นถ้าต้องจัดการเซิร์ฟเวอร์พร้อมกันหลายตัวจะทำให้การสลับการทำงานระหว่างเซิร์ฟเวอร์แต่ละตัวจะไม่สะดวกเป็นอย่างมากและยังอาจเกิดความสับสนได้อีกด้วย
การจัดกลุ่มเซิร์ฟเวอร์
ปกติแล้ว Windows Server แต่ละตัวจะมีหน้าที่ (Roles) และคุณสมบัติ (Features) ที่เฉพาะเจาะจง ดังนั้นถ้าผู้ดูแลระบบสามารถมองเห็นภาพรวมของระบบเซิร์ฟเวอร์ได้จะทำให้สามารถเข้าถึงเซิร์ฟเวอร์ตัวที่ต้องการได้รวดเร็วขึ้น ซึ่ง RSAT นั้นจะทำการจัดกลุ่ม Windows Server ตามหน้าที่และคุณสมบัติให้โดยอัตโนมัติทำให้สามารถมองเห็นภาพรวมของระบบเซิร์ฟเวอร์ได้ทันที ในขณะที่ลูกข่ายเดสก์ท็อประยะไกลนั้นไม่สามารถจัดกลุ่มเซิร์ฟเวอร์ตามหน้าที่และคุณสมบัติโดยอัตโนมัติ
ข้อมูลเปรียบเทียบด้านบนนี้คงพอทำให้เห็นถึงความแตกต่างระหว่าง RSAT กับลูกข่ายเดสก์ท็อประยะไกล แต่ถ้าถามว่าเครื่องมือตัวไหนใช้งานดีกว่ากัน ผมแนะนำว่าให้ท่านลองใช้งานและตัดสินด้วยตัวเองดีที่สุดครับ
หมายเหตุ: ไมโครซอฟท์มีโปรแกรมชื่อ Remote Desktop Connection Manager (RDCMan) ซึ่งช่วยเสริมการใช้งานลูกข่ายเดสก์ท็อประยะไกลให้ใช้งานได้ในแบบหน้าต่างเดียวและจัดกลุ่มเซิร์ฟเวอร์ได้ ท่านใดสนใจสามารถดาวน์โหลดได้จากไมโครซอฟท์ สำหรับวิธีการใช้งาน RDCman นั้นผมจะนำมาฝากในโอกาสต่อไปครับ
ข้อมูลอ้างอิง
Add Servers to Server Manager
ปรับปรุง:
22 กันยายน 2558: เพิ่มหัวข้อ การรองรับ Windows Server โหมด Server Core