สวัสดีครับ วันนี้ผมมีวิธีการคัดลอกไฟล์จากโฟลเดอร์ที่แบ่งปันบนเครือข่าย (Shared folder) ลงเครื่องเซิร์ฟเวอร์ Windows Server 2012 R2 Server Core หรือกลับกันมาฝากท่านที่เป็นผู้ดูแลระบบเซิร์ฟเวอร์ สำหรับเนื้อหาเรื่องนี้จะต่อเนื่องจากเรื่อง การจัดการดิสก์บน Server Core ซึ่งการคัดลอกไฟล์นั้นวิธีการและขั้นตอนตามรายละเอียดด้านล่างครับ
วิธีการนี้ใช้ในสถานการณ์แบบไหน?
เพื่อให้ท่านได้มองเห็นภาพการทำงานได้ชัดเจนมากขั้น ผมของสมมุติสถานการณ์ดังนี้
ความต้องการ:
เราเป็นผู้ดูแลระบบ Server Core และต้องการติดตั้งระบบปฏิบัติการ Windows บนคอมพิวเตอร์เสมือน (Virtual Machine) ซึ่งงานอยู่บน HYPER-V โดยใช้ไฟล์ไอเอสโออิมเมจ (ISO image) ซึ่งดูเผินๆ แล้วไม่น่ามีอะไรยุ่งยาก แต่ประเด็นคือเราไม่สามารถทำการดาวน์โหลดไฟล์ไอเอสโออิมเมจจากบน Server Core ได้
แนวทางการแก้ไข:
การแก้ไขปัญหาดังกล่าวนี้ทำได้ 2 วิธี ดังต่อไปนี้
วิธีที่ 1: วิธีง่ายที่สุดในการแก้ไขปัญหานี้คือเปลี่ยนไปติดตั้งจากดีวีดีหรือยูเอสบีแฟลชไดรฟ์แทน
วิธีที่ 2: แต่ถ้าใช้วิธีที่ 1 ไม่ได้ เราจะต้องทำการคัดลอกไฟล์ไอเอสโออิมเมจของ Windows ที่ต้องการ (ถ้ายังไม่มีไฟล์ไอเอสโออิมเมจก็ต้องทำการดาวน์โหลดจากเว็บไซต์ไมโครซอฟท์หรือ VLSC สำหรับลูกค้า Volume License) ไปเก็บไว้บนโฟลเดอร์ที่แบ่งปันบนเครือข่าย (เช่น \\FILESERVER1\ISO เป็นต้น) จากนั้นจึงทำการคัดลอกไฟล์ไอเอสโออิมเมจลงเซิร์ฟเวอร์ Server Core
ในที่นี้สมมุติว่าเราเลือกวิธีที่ 2 และเพื่อให้การทำงานง่ายขึ้น ผมขอแบ่งการทำงานออกเป็น 3 ขั้นตอนใหญ่ดังนี้
1. แสดงรายชื่อไดรฟ์
2. ทำการแมพไดรฟ์ที่แบ่งปันบนเครือข่าย
3. ทำการคัดลอกไฟล์จากไดรฟ์บนเครือข่ายลงในไดรฟ์บนเครื่อง
ก่อนลงมือทำงาน:
ก่อนที่จะลงมือทำตามวิธีการในเรื่องนี้ ขั้นตอนแรกเราจะต้องทำการเชื่อมต่อเครื่องคอมพิวเตอร์ต้นทาง (ผมใช้ Windows 8.1) กับ Server Core ผ่านทางเดสก์ท็อประยะไกลก่อน ซึ่งหลังจากเชื่อมต่อได้แล้วเราจะได้หน้าต่างคอมมานด์พร้อมท์สำหรับใช้รันคำสั่งต่างๆ
*กรณียังไม่ได้เปิดเดสก์ท็อประยะไกลบน Server Core สามารถอ่านวิธีทำได้ ที่นี่
ขั้นตอนที่ 1: แสดงรายชื่อไดรฟ์
ก่อนอื่นเราจะต้องทำการตรวจสอบข้อมูลบนเซิร์ฟเวอร์ก่อนว่ามีไดรฟ์ชื่ออะไรบ้าง โดยการตรวจสอบนั้นทำได้หลายวิธี (สำหรับท่านที่ทราบแล้ววามีรายชื่อไดรฟ์อะไรบนระบบสามารถข้ามไปทำขั้นตอนที่ 2 ได้เลยครับ) ซึ่งผมรวบรวมมาฝาก 3 วิธีดังนี้
วิธีที่ 1: ใช้คำสั่ง Fsutil โดยการรันคำสั่งต่อไปนี้ที่คอมมานด์พร้อมท์
fsutil fsinfo drives
ผลการทำงาน

วิธีที่ 2: ใช้คำสั่ง WMIC โดยการรันคำสั่งต่อไปนี้ที่คอมมานด์พร้อมท์
wmic logicaldisk get deviceid, volumename, description
ผลการทำงาน

วิธีที่ 3: ใช้คำสั่ง DISKPART โดยการรันคำสั่งต่อไปนี้ที่คอมมานด์พร้อมท์
diskpart แล้วรันคำสั่ง list volume ที่คอมมานด์พร้อมท์
ผลการทำงาน

ขั้นตอนที 2. ทำการแมพไดรฟ์ที่แบ่งปันบนเครือข่าย
หลังจากทราบรายชื่อไดรฟ์ที่มีบนระบบแล้ว ขั้นตอนต่อไปเราต้องทำการแมพไดรฟ์ที่แบ่งปันบนเครือข่าย โดยชื่อไดรฟ์ที่ใช้จะต้องไม่ซ้ำกับที่มีอยู่แล้ว ตัวอย่าง ต้องการแมปไดรฟ์ N: กับโฟลเดอร์ \\191.1.2.22\ISO ที่แบ่งปันบนเครือข่าย โดยใช้บัญชี administrator ในการดำเนินการ คำสั่งที่ใช้จะเป็นดังนี้
net use N: \\191.1.2.22\ISO /USER:191.1.2.22\administrator
จากนั้นให้ป้อนรหัสผ่านของบัญชีผู้ใช้ที่พร้อมท์คำสั่ง (ในตัวอย่างนี้ คือ administrator บนเซิร์ฟเวอร์ 191.1.2.22)
ทิป: สามารถใช้ชื่อเซิร์ฟเวอร์แทนหมายเลขที่อยู่ไอพีได้ เช่น \\FILESERVER1\ISO แทน \\191.1.2.22\ISO เป็นต้น
จะได้ผลการทำงานดังรูปด้านล่าง

ถ้าเราต้องการให้ไดรฟ์พร้อมใช้งานเมื่อการลงชื่อเข้าระบบครั้งต่อไปเพื่อจะได้ไม่ต้องเสียเวลาทำการแมพไดรฟ์ใหม่ เราสามารถใช้พารามิเตอร์ /persistent:yes ซึ่งจะเป็นการแมพไดรฟ์อย่างถาวร
ถามว่า เราจำเป็นไหมที่ต้องแมพไดรฟ์ (ในตัวอย่างนี้ คือ N:)? ตอบว่าไม่จำเป็นครับ แต่การแมพไดรฟ์ช่วยให้เราทำงานในขึ้นตอนที่ 3 ง่ายขึ้น ง่ายขึ้นยังไงจะแสดงในขั้นตอนที่ 3 ครับ
สำหรับท่านที่ไม่ต้องการแมพไดรฟ์ ให้ใช้คำสั่งด้านล่าง (ไม่ต้องระบุชื่อไดรฟ์) ครับ
net use \\FILESERVER1\ISO /USER:\\FILESERVER1\user1
ขั้นตอนที่ 3. ทำการคัดลอกไฟล์จากไดรฟ์บนเครือข่ายลงในไดรฟ์บนเครื่อง
หลังจากแมพที่แบ่งปันบนเครือข่ายเสร็จแล้วเราสามารถทำการคัดลอกไฟล์จากไดรฟ์บนเครือข่ายลงในไดรฟ์บนเครื่อง ตัวอย่าง ต้องการคัดลอกไฟล์และโฟลเดอร์ทั้งหมดยกเว้นโฟลเดอร์ว่างที่เก็บในโฟลเดอร์ N:\Server 2012 R2 ลงในโฟลเดอร์ E:\ISO คำสั่งที่ใช้จะเป็นดังนี้
xcopy “N:\Server 2012 R2” E:\ISO\IMAGES /E
แต่ถ้าเราไม่ได้ทำการแมพไดรฟ์ในขั้นตอนที่ 2 (นั้นคือเราจะไม่มีไดรฟ์ N:) คำสั่งที่ใช้จะเปลี่ยนเป็นดังนี้ ครับ
xcopy “FILESERVER1\ISO\Server 2012 R2” E:\ISO\IMAGES /E
การคัดลอกไฟล์นั้นอาจต้องใช้เวลานานหลายนาที ขึ้นอยู่กับขนาดไฟล์ ความเร็วของระบบเครือข่าย ความเร็วของฮาร์ดแวร์เซิฟ์เวอร์ หลังจากคัดลอกไฟล์เสร็จแล้วเราก็พร้อมสำหรับการติดตั้งระบบปฏิบัติการบนคอมพิวเตอร์เสมือนแล้วครับ

สรุป
ทั้งหมดนี้คือแนวทางคัดลอกไฟล์จากโฟลเดอร์ที่แบ่งปันบนเครือข่ายลงเซิร์ฟเวอร์ Windows Server 2012 R2 Server Core (สามารถใช้ได้กับ Windows Server 2012 R2 ที่ติดตั้งแบบกราฟิกได้เช่นกันครับ) ซึ่งท่านสามารถนำไปประยุกต์ใช้งานได้ตามความเหมาะสมครับ
แหล่งข้อมูล
Microsoft
Computer Hope