แม้ว่าหน้าจอเมื่อล็อก (Lock Screen) บน Windows นั้นช่วยให้ผู้ใช้ทราบข้อมูลสำคัญโดยไม่ต้องลงชื่อเข้า เช่น มีอีเมลใหม่ เป็นต้น และภาพฉากหลังยังเพิ่มความสวยงามช่วยให้เกิดความสบายตาสบายใจได้อีกด้วย แต่ใช่ว่าทุกคนจะชื่นชอบคุณสมบัติดังกล่าวนี้ เนื่องจากมันเพิ่มขั้นตอนการลงชื่อเข้าเครื่อง ดังนั้นถ้าคุณไม่ชอบหน้าจอเมื่อล็อกคุณสามารถปิดการทำงาน (Disable Lock Screen) ได้ตามขั้นตอนด้านล่างครับ
แนะนำ Lock Screen
ไมโครซอฟท์ได้แนะนำคุณสมบัติหน้าจอเมื่อล็อก (Lock Screen) บน Windows ครั้งแรกในเวอร์ชัน Windows 8 และมีใช้เรื่อยมาจนถึง Windows 10 หน้าจอเมื่อล็อกนั้นออกแบบมาเพื่อแสดงข้อมูลสำคัญต่างๆ เวลาและวันที่, อีเมล, แบตเตอรี่, สถานะการเชื่อมต่อระบบเครือข่าย เป็นต้น ให้ผู้ใช้ทราบข้อมูลสำคัญได้ทันที (เช่น มีอีเมลใหม่ เป็นต้น) โดยไม่ต้องลงชื่อเข้า ซึ่งผู้ใช้สามารถทำการปรับแต่งข้อมูลและภาพที่ใช้เป็นฉากหลังได้ตามความต้องการ นอกจากนี้หน้าจอเมื่อล็อกยังเพิ่มความสวยงามและสร้างความเป็นเอกลักษณ์ให้กับผู้ใช้ได้อีกด้วย แต่เนื่องจากมันออกแบบมาสำหรับการใช้งานบนอุปกรณ์ระบบสัมผัส (touch-enabled devices) เป็นหลัก ดังนั้นจึงไม่ค่อยสะดวกในการใช้งานบนเดสก์ท็อปคอมพิวเตอร์ที่ใช้จอภาพแบบธรรมดาครับ
ปัญหาการใช้ Lock Screen
ปัญหาที่เกิดจากการใช้หน้าจอเมื่อล็อกคือ เมื่อคุณเปิด Windows 10 แทนที่จะเข้าสู่หน้าลงชื่อเข้าดังรูปที่ 1 แต่จะได้หน้าจอเมื่อล็อกดังรูปที่ 2 ซึ่งทำให้คุณต้องแตะหน้าจอ (สำหรับอุปกรณ์จอสัมผัส) ขยับเม้าส์ หรือกดแป้นพิมพ์บนคีย์บอร์ด 1 ครั้ง ก่อนจึงจะเข้าสู่หน้าลงชื่อเข้า
รูปที่ 1
รูปที่ 2
วิธีปิดการทำงาน Lock Screen บน Windows 8/8.1/10
การแก้ปัญหาดังกล่าวนี้ทำได้โดยปิดการทำงานหน้าจอเมื่อล็อก แต่เนื่องจาก Windows ไม่ได้เตรียมเครื่องมือสำหรับใช้ทำงานนี้ไว้ให้เป็นการเฉพาะ ทำให้ต้องทำการปิดการทำงานผ่านทาง Local Policy โดยการใช้เครื่องมือ Group Policy Editor หรือ Registry Editor (โดยส่วนตัวผมชอบใช้ Group Policy Editor มากกว่า) ครับ
ใช้โปรแกรม Group Policy Editor
วิธีปิดการทำงาน หน้าจอเมื่อล็อกบน Windows 8/8.1/10 โดยใช้โปรแกรม Group Policy Editor มีขั้นตอนดังต่อไปนี้
1. กดแป้นพิมพ์ลัด Windows + R จากนั้นพิมพ์ gpedit.msc ในช่อง Open เสร็จแล้วคลิก OK หรือกดปุ่ม Enter
2. ในหน้าต่าง Local Group Policy Editor ในบานหน้าต่างซ้ายมือให้เลือก Personalization ซึ่งอยู่ภายใต้โฟลเดอร์ Computer Configuration\Administrative Templates\Control Panel
รูปที่ 3
3. ในบานหน้าต่างขวามือให้ดับเบิลคลิก Do not display the lock screen (รูปที่ 3)
4. ในหน้าต่าง Do not display the lock screen ให้เลือก Enabled จากนั้นคลิก Apply แล้วคลิก OK
เคล็ดลับ: ในกรณีต้องการให้ Windows กลับไปแสดงหน้าหน้าจอเมื่อล็อกอีกครั้ง ให้ดำเนินการตามขั้นตอนที่ 1-4 โดยในขั้นตอนที่ 4 ให้เลือกเป็น Not Configured หรือ Disabled
รูปที่ 4
5. ปิดหน้าต่างโปรแกรม Group Policy Editor เพื่อจบการทำงาน แล้วทำการลงชื่อออกหรือเริ่มต้นระบบใหม่เพื่อให้การเปลี่ยนแปลงมีผล
ใช้โปรแกรม Registry Editor บน Windows 8/8.1/10
วิธีปิดการทำงาน หน้าจอเมื่อล็อกบน Windows 8/8.1/10 โดยใช้โปรแกรม Registry Editor (regedit.exe) มีขั้นตอนดังต่อไปนี้
1. กดแป้นพิมพ์ลัด Windows + R จากนั้นพิมพ์ regedit ในช่อง Open เสร็จแล้วคลิก OK หรือกดปุ่ม Enter (คลิก Yes บนหน้า User Account Control (ถ้ามี)) เพื่อเปิดโปรแกรม Registry Editor
2. บนหน้าต่าง Registry Editor ให้ท่องไปยัง
HKEY_LOCAL_MACHINE\SOFTWARE\Policies\Microsoft\Windows\Personalization
>> กรณีไม่มีคีย์ Personalization ให้คลิกขวาบน Windows เลือก New จากนั้นเลือก Key โดยให้ตั้งชื่อคีย์ที่สร้างขึ้นว่า Personalization
รูปที่ 5
3. ในบานหน้าต่างด้านซ้ายให้แน่ใจว่าคลิกเลือก Personalization จากนั้นในบานหน้าต่างด้านขวา ให้คลิกขวาเลือก New แล้วเลือก DWORD (32-bit) value โดยให้ตั้งชื่อว่า NoLockScreen และตั้งค่าเป็น 1 (รูปที่ 6)
รูปที่ 6
4. ปิดโปรแกรม Registry Editor แล้วทำการลงชื่อออกหรือเริ่มต้นระบบใหม่เพื่อให้การเปลี่ยนแปลงมีผล
เคล็ดลับ: ในกรณีต้องการให้ Windows กลับไปแสดงหน้าหน้าจอเมื่อล็อกอีกครั้ง ให้ดำเนินการตามขั้นตอนที่ 1-3 โดยในขั้นตอนที่ 3 ให้ตั้งค่า NoLockScreen เป็น 0
ผลการทำงาน
เมื่อทำการตั้งค่า Local Policy ค่าตามวิธีการด้านบนเรียบร้อยแล้ว หลังจากนั้น Windows จะไม่ทำการแสดงหน้าจอเมื่อล็อกอีกต่อไป ทำให้คุณสามารถเข้าถึงหน้าลงชื่อเข้าได้ในทันทีโดยไม่ต้องเสียเวลาแตะหน้าจอ ขยับเม้าส์ หรือกดแป้นพิมพ์บนคีย์บอร์ด โดยคุณสามารถทดสอบการทำงานโดยการกดปุ่ม Windows + L เพื่อล็อก Windows
ใครที่ใช้ต้องการปิดหน้าจอเมื่อล็อกสามารถทำได้ตามวิธีการด้านบน ซึ่งสามารถประยุกต์ใช้งานได้กับ Windows 8/8.1 และ 10 ครับ
ข้อมูลอ้างอิง
Windows: How-to
Personalize your PC
ประวัติการปรับปรุง:
16 กรกฎาคม 2560 – ปรับปรุงเนื้อหา
20 มิถุนายน 2559 – เพิ่มวิธีการสร้างคีย์ Personalization และแก้ไขคำผิด
29 พฤศจิกายน 2558 – เผยแพร่ครั้งแรก