ถึงตอนนี้คิดว่าผู้ใช้ Windows 10 ส่วนใหญ่คงอัพเดต Windows 10 Anniversary Update การปรับปรุงใหญ่หลังจากออกมาครบ 1 ปี ที่ออกอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 2 สิงหาคมที่ผ่านมากันเรียบร้อยแล้ว (ใครยังไม่อัพเดตอ่านวิธีทำได้ที่ วิธีอัพเดต Windows 10 Anniversary Update ครับ) อย่างไรก็ตาม มีรายงานว่ามีผู้ใช้ประสบปัญหาเครื่องค้างหลังจากติดตั้ง Windows 10 Anniversary Update ซึ่งล่าสุดไมโครซอฟท์ออกมายอมรับว่าเกิดปัญหาดังกล่าวจริงพร้อมทั้งแนะนำวิธีแก้ไขให้แก่ผู้ใช้
ไมโครซอฟท์โพสต์ใน Support forum ยอมรับว่ามีผู้ใช้บางส่วน (จำนวนไม่มาก) ประสบปัญหา Windows 10 Anniversary Update ค้างจริงและกำลังทำการตรวจหาสาเหตุของปัญหาดังกล่าว โดยไมโครซอฟท์ระบุว่า ปัญหานี้เกิดขึ้นเฉพาะบนระบบที่ทำการติดตั้ง Windows 10 บน Solid-state drive (SSD) แต่แยกติดตั้งแอปและทำการเก็บข้อมูลไว้ในไดรฟ์อื่น ซึ่งปัญหานี้จะเกิดขึ้นกับการใช้งานพีซีในโหมดปกติเท่านั้นแต่จะไม่เกิดขึ้นใน Safe Mode อย่างไรก็ตามไมโครซอฟท์ยังไม่ได้ระบุว่าจะออกอัพเดตสำหรับแก้ไขปัญหานี้ในรูปแบบไหนอย่างไรและเมื่อไหร่
วิธีการแก้ไขปัญหา
ไมโครซอฟท์แนะนำผู้ใช้ที่มีปัญหา Windows 10 Anniversary Update ค้าง ให้ทำการย้อนกลับไปเป็น Windows 10 เวอร์ชันก่อนหน้า โดยผู้ใช้ที่อัพเดตไม่เกิน 10 วัน สามารถใช้ Go back to an earlier build (คลิก Start > Settings > Update & security > Recovery > แล้วคลิก Get started ภายใต้หัวข้อ Go back to an earlier build) เพื่อย้อนกลับไปเป็นเวอร์ชันก่อนหน้าได้ สำหรับผู้ใช้ที่อัพเดตเกิน 10 วัน ไมโครซอฟท์แนะนำให้แก้ไขปัญหาด้วยวิธีการต่อไปนี้
วิธีที่ 1: ใช้ Recovery Console
1. ทำการเริ่มต้นเครื่องพีซีใหม่ โดยบนหน้าจอลงชื่อเข้า (Sign-in screen) ให้กดปุ่ม Shift ในขณะที่คลิกปุ่ม Power และคลิก Restart
2. หลังจากพีซีพร้อมใช้งาน บนหน้า Choose an option ให้เลือก Troubleshoot แล้วเลือก Advanced Options
รูปที่ 1
3. บนหน้า Advanced Options ให้เลือก Go back to the previous build จากนั้นให้ดำเนินการตามคำสั่งบนหน้าจอจนแล้วเสร็จ ถ้าหากไม่เห็นตัวเลือกนี้ให้เปลี่ยนไปใช้วิธีที่ 2
รูปที่ 2
วิธีที่ 2: ใช้แอป Settings จาก Safe Mode
1. ทำการเริ่มต้นเครื่องพีซีใหม่ โดยบนหน้าจอลงชื่อเข้า (Sign-in screen) ให้กดปุ่ม Shift ในขณะที่คลิกปุ่ม Power และคลิก Restart
2. หลังจากพีซีพร้อมใช้งาน บนหน้า Choose an option ให้เลือก Troubleshoot แล้วเลือก Advanced Options จากนั้นเลือก Startup Settings
3. บนหน้า Startup Settings ให้คลิก Restart
รูปที่ 3
4. หลังจากพีซีพร้อมใช้งาน ให้เลือก 4 หรือ F4 บนหน้า Startup Settings เพื่อเริ่มพีซีใน Safe Mode
รูปที่ 4
5. ทำการลงชื่อเข้าเครื่องตามปกติ จากนั้นเปิดแอป Settings (คลิก Start > Settings)
6. บนหน้า Settings คลิก Update & security จากนั้นคลิกแท็บ Recovery
7. ภายใตัหัวข้อ “Go back to an earlier build” ให้คลิก Get started แล้วดำเนินการตามคำสั่งบนหน้าจอจนแล้วเสร็จ
ประวัติการปรับปรุง
17 สิงหาคม 2559: แก้ไขคำผิด, เพิ่มรูปประกอบ
15 สิงหาคม 2559: เผยแพร่ครั้งแรก