สวัสดีครับ ก่อนหน้านี้ผมได้แนะนำ (เล่าประสบการณ์) การใช้งาน Windows Server 2012 R2 ที่ติดตั้งแบบ Server Core ไปแล้วหลายเรื่อง มาวันนี้ผมมีประสบการณ์เกี่ยวกับการจัดการดิสก์ (Disk Management) มาเล่าสู่กันฟังเพื่อเป็นแนวทางสำหรับผู้ดูแลระบบเซิร์ฟเวอร์ระบบ Windows ที่เพิ่งเริ่มต้นหรือกำลังวางแผนใช้งาน Server Core นำไปประยุกต์ใช้งานครับ
สำหรับสาเหตุที่ทำให้เราต้องจัดการดิสก์บน Server Core จากระยะไกลนั้น เพราะว่า Server Core ไม่มีเครื่องมือแบบกราฟิกสำหรับใช้จัดการดิสก์จึงค่อนข้างเป็นเรื่องยากสำหรับผู้ดูแลระบบ (รวมถึงตัวผมเองด้วย) ในการจัดการดิสก์ เช่น การสร้างโวลุ่ม การขยายขนาดโวลุ่ม การลดขนาดโวลุ่ม เป็นต้น ด้วยเครื่องมือแบบบรรทัดคำสั่ง เช่น PowerShell ดังนั้น การจัดการดิสก์จากระยะไกลด้วย Computer Management ซึ่งเป็นเครื่องมือแบบกราฟิกและพวกเรามีความคุ้นเคยเป็นอย่างดีจึงเป็นทางเลือกที่ง่ายกว่า ครับ
กอนอื่น ผมขอแจ้งขอบเขตของระบบที่ใช้อ้างอิงให้ท่านได้เห็นภาพรวมของระบบเพื่อจะได้มีความเข้าใจตรงกัน โดยระบบที่อ้างอิงในบทความนี้มีรายละเอียดดังต่อไปนี้ครับ
1. เครื่องเซิร์ฟเวอร์ใช้ Windows Server 2012 R2 ติดตั้งแบบ Server Core
2. เครื่องลูกข่ายใช้ Windows 8.1
3. เครื่องเซิร์ฟเวอร์และลูกข่ายอยู่บนเครือข่ายเดียวกัน (Local subnet)
4. เครื่องเซิร์ฟเวอร์และลูกข่ายทำงานในแบบกลุ่มงาน (Workgroup)
และเนื่องจากการจัดการดิสก์บน Server Core นั้นมีการทำงานหลายขั้นตอนดังนั้นผมจึงแบ่งเนื้อหาออกเป็น 2 ตอน โดยตอนที่ 1 จะว่าถึงการวิธีการเชื่อมต่อ Computer Management กับ Server Core ส่วนตอนที่ 2 จะเป็นรายละเอียดของการจัดการดิสก์ ครับ
สำหรับบทความแรกนี้ผมจะสาธิตถึงขั้นตอนการเชื่อมต่อ Computer Management กับ Server Core ในแบบกลุ่มงานครับ
ตอนที่ 1 การเชื่อมต่อ Computer Management กับ Server Core
ก่อนที่เราจะสามารถจัดการดิสก์บน Windows Server 2012 R2 Server Core ได้นั้นเราต้องการเชื่อมต่อ Computer Management บนเครื่องลูกข่ายกับ Server Core ให้ได้ก่อน สำหรับวิธีการทำนั้นจะแตกต่างกันไปตามโครงสร้างระบบเครือข่ายและการตั้งค่าระบบเซิร์ฟเวอร์ที่ใช้งาน แต่โดยทั่วไปแล้วจะมีขั้นตอนดังนี้
1. บนเครื่องลูกข่าย Windows 8.1 ให้คลิกขวาบนเมนูเริ่ม (Start) จากนั้นคลิก Computer Management
ทิป: กดแป้นพิมพ์ลัด Windows + R แล้วพิมพ์ compmgmt.msc ในช่อง Open แล้วคลิก OK
2. บนหน้าต่าง Computer Management คลิกเมนู Action จากนั้นเลือก Connect to another computer
รูปที่ 1
3. บนหน้า Select Computer ให้ป้อนชื่อเซิร์ฟเวอร์ของ Server Core ตัวที่ต้องการเชื่อมต่อ เสร็จแล้วคลิก OK หากท่านไม่ได้ข้อความผิดพลาดใดๆ ท่านสามารถข้ามขั้นตอนด้านล่างเพื่อไปยังเรื่อง การจัดการฮาร์ดดิสก์บน Windows Server 2012 R2 Server Core ได้เลย แต่ถ้าได้รับข้อผิดพลาด (อาจมีมากกว่า 1 ข้อ) ให้ท่านทำการแก้ไขตามอาการที่พบตามวิธีการด้านล่างครับ
รูปที่ 2
สำหรับปัญหาทีพบได้บ่อยๆ เมื่อทำการเชื่อมต่อ Computer Management กับ Server Core ได้แก่ 4 ปัญหาดังต่อไปนี้
ปัญหาที่ 1 เชื่อมต่อ Computer Management กับ Server Core ไม่ได้
เมื่อท่านทำการเพิ่มเซิร์ฟเวอร์เข้าใน Computer Management แล้วได้รับข้อความแสดงข้อผิดพลาดดังรูปด้านล่าง แสดงว่าเครื่่องลูกข่ายไม่สามารถติดต่อกับ Server Core ได้ กรณีนี้ให้ท่านทำการตรวจสอบว่าใส่ชื่อเซิร์ฟเวอร์ถูกต้องหรือไม่ เซิร์ฟเวอร์ปิดเครื่องอยู่หรือไม่ได้ต่อกับเครื่อข่ายหรือไม่ เป็นต้น เมื่อพบสาเหตุแล้วก็ให้ทำการแก้ไขให้เรียบร้อย เสร็จแล้วให้ทำการเชื่อมต่อ Computer Management กับ Server Core อีกครั้ง
รูปที่ 3
ปัญหาที่ 2 เข้าสู่หน้า Disk Management ไม่ได้
ท่านสามารถทำการเชื่อมต่อ Computer Management กับ Server Core ได้แล้ว แต่เมื่อคลิก Disk Management แล้วได้รับข้อความแสดงข้อผิดพลาดว่า You do not have access rights to Logical Disk Management on server_name ดังรูปด้านล่าง
รูปที่ 4
ปัญหานี้เกิดจาก Server Core ไม่รู้จักชื่อผู้ใช้และรหัสผ่านที่ใช้ในการเชื่อมต่อ ซึ่งสามารถแก้ไขได้โดยบนเครื่องลูกข่าย Windows 8.1 (เครื่องที่รัน Computer Management) ให้ทำการรันคำสั่งที่พร้อมท์คำสั่งด้วยสิทธิ์ผู้ดูแลระบบดังไปนี้
cmdkey /add:targetname /user:username /pass:password
เมื่อ:
targetname คือชื่อเซิร์ฟเวอร์ Windows Server 2012 R2 Server Core ปลายทาง
username คือชื่อผู้ใช้ที่จะใช้ในการเชื่อมต่อ
password คือรหัสผ่านของผู้ใช้ที่จะใช้ในการเชื่อมต่อ
ตัวอย่าง:
cmdkey /add:WS2012HPV4 /user:administrator /pass:hyper-v@9
เสร็จแล้วให้ทดลองเข้า Disk Management อีกครั้ง
ปัญหาที่ 3 เข้าหน้า Disk Management ไม่ได้
ท่านสามารถทำการเชื่อมต่อ Computer Management กับ Server Core ได้แล้ว แต่เมื่อคลิก Disk Management แล้วได้รับข้อความแสดงข้อผิดพลาดดังรูปด้านล่าง แสดงว่าทราฟิก Remote Volume Management ถูกปิดกั้นโดยไฟล์วอลล์ของระบบ Windows
รูปที่ 5
ถ้าเกิดปัญหาดังกล่าวนี้ท่านจะต้องแก้ไขทั้งบนเครื่องเซิร์ฟเวอร์ (Server Core) และเครื่องลูกข่าย (เครื่อง Windows 8.1 ที่รัน Computer Management) โดยการรันคำสั่ง PowerShell ดังต่อไปนี้
Enable-NetFirewallRule -DisplayGroup “Remote Volume Management”
จากนั้นให้การรันคำสั่ง PowerShell ดังต่อไปนี้
Get-NetFirewallRule -DisplayGroup “Remote Volume Management” | Format-Table name, enabled -AutoSize
แล้วให้ท่านทำการตรวจสอบให้แน่ไจว่า RVM-VDS-In-TCP, RVM-VDSLDR-In-TCP และ VM-RPCSS-In-TCP ถูกตั้งค่าเป็น True ทั้งหมด
ทิป: สามารถตั้งค่าไฟร์วอลล์แบบกราฟิกโดยใช้ Windows Firewall
เสร็จแล้วให้ทดลองเข้า Disk Management อีกครั้ง
ปัญหาที่ 4 The RPC server is unavailable
ท่านสามารถทำการเชื่อมต่อ Computer Management กับ Server Core ได้แล้ว แต่เมื่อคลิก Disk Management แล้วได้รับข้อความแสดงข้อผิดพลาดว่า The RPC Server is unavailable. ดังรูปด้านล่าง ซึ่งปัญหาดังกล่าวนี้มีสาเหตุมาจาก Virtual Disk Service (VDS) ยังไม่ทำงาน
รูปที่ 6
การแก้ปัญหานี้ต้องทำบน Server Core โดยการรันคำสั่ง PowerShell ดังต่อไปนี้
Set-Service vds -StartupType Automatic
Start-Service vds
สำหรับท่านที่การถนัดใช้บรรทัดคำสั่ง ให้รันคำสั่งด้านล่างที่พร้อมท์คำสั่งด้วยสิทธิ์ผู้ดูแลระบบครับ
sc config vds start= auto
net start vds
ทิป: สามารถตั้งค่าไฟร์วอลล์แบบกราฟิกโดยใช้ Windows Firewall
เสร็จแล้วให้ทดลองเข้า Disk Management อีกครั้ง
ทั้งหมดนี้คือขั้นตอนการเชื่อมต่อ Computer Management บนลูกข่าย Windows 8.1 กับ Windows Server 2012 R2 Server Core และวิธีการแก้ไขกรณีเกิดข้อผิดพลาดในแบบต่างๆ เมื่อเสร็จจากขั้นตอนนี้แล้วจากนั้นเราก็สามารถจัดการดิสก์ได้ อ่านวิธีทำได้ ที่นี่ ครับ