[12 กุมภาพันธ์ 2560] ผู้ใช้ Windows 10 เวอร์ชัน 1607 (Anniversary Update) อ่าน วิธีเปิดหรือปิด Wi-Fi Sense บน Windows 10 Version 1607
ปัจจุบันพวกเราต้องการออนไลน์ได้จากทุกที่ทุกเวลาที่เป็นไปได้ และจะยิ่งแฮปปี้มากถ้าออนไลน์ได้ทันทีที่เปิดเครื่องโน้ตบุ๊คหรือแท็บเล็ต แต่ในความเป็นจริงเราอาจต้องทำหลายขั้นตอนกว่าจะใช้งานอินเทอร์เน็ตได้โดยเฉพาะการใช้งานผ่านระบบ Wi-Fi โชคดี (หรือเปล่า) ที่ไมโครซอฟท์รับรู้ถึงความยากลำบากดังกล่าวจึงแก้ปัญหาโดยเพิ่ม Wi‑Fi Sense บน Windows 10 เพื่อช่วยให้เชื่อมต่อ Wi-Fi ได้ง่ายขึ้น
Wi‑Fi Sense คืออะไร
โดยทั่วไปแล้วเมื่อต้องการเชื่อมต่อโน้ตบุ๊คหรือแท็บเล็ต Windows (7, 8/8.1 หรือ 10 ก็แล้วแต่) กับ Wi-Fi คุณจะต้องทำการเชื่อมต่อด้วยตนเอง จากนั้นต้องป้อนบัญชีผู้ใช้และรหัสผ่านหรือป้อนเฉพาะรหัสผ่านแล้วแต่กรณี ถ้าโชคดีเพียงพอคุณก็จะเชื่อมต่อได้สำเร็จและสามารถใช้งานอินเทอร์เน็ตได้ตามต้องการ แต่ถ้าโชคร้ายก็ต้องติดต่อขอความช่วยเหลือจากผู้ดูแลระบบ (ถ้าทราบ) หรือทำการเชื่อมต่อกับ Wi-Fi ระบบอื่น (ถ้ามี) ไปเรื่อยๆ จนกว่าจะสำเร็จหรือจนกว่าจะหมดความพยายามไปเอง
จากขั้นตอนด้านบนจะเห็นได้ว่าไม่ค่อยสะดวกมากนักในการที่จะออนไลน์ผ่าน Wi-Fi แต่ปัญหาดังกล่าวนี้จะหมดไปทันทีถ้าคุณใช้ Windows 10 เพราะว่ามี Wi‑Fi Sense หรือที่ชื่อในภาษาไทยว่า “Wi‑Fi อัจฉริยะ” ซึ่งเป็นคุณลักษณะใหม่บน Windows 10 (มีใช้บน Windows Phone 8.1 มาก่อน) ที่ช่วยให้คุณเชื่อมต่อกับเครือข่าย Wi-Fi ได้ทันทีที่คุณเปิดเครื่องและในบริเวณนั้นมี Wi-Fi ฮอตสปอตแบบเปิดที่ระบบรู้จักหรือมีเพื่อนของคุณทำการแชร์ Wi-Fi ผ่าน Wi‑Fi Sense
ถ้าคุณเปิดใช้ Wi‑Fi Sense เมื่อคุณเปิดเครื่องระบบจะเชื่อมต่อคุณเข้ากับ Wi-Fi ที่เพื่อนใน Facebook, บุคคลในรายชื่อผู้ติดต่อใน Outlook.com หรือรายชื่อผู้ติดต่อใน Skype ทำการแชร์โดยอัตโนมัติ (โดยไม่ถามสักคำว่าอยากต่อไหม) ตัวอย่างเช่น เพื่อนคุณแชร์ Wi‑Fi ผ่านทาง Wi‑Fi Sense ถ้าคุณไปบ้านเพื่อนคนนั้นและเปิด Wi‑Fi Sense คุณสามารถใช้ Wi‑Fi ได้ในทันทีโดยไม่ต้องทำการเชื่อมต่อหรือลงชื่อเข้าให้เสียเวลา (อ่านถึงตรงนี้หลายคนคงรู้สึกว่า “ก็สะดวกดีนี่”)
แต่ใช่ว่าแค่ใช้ Windows 10 แล้วจะใช้งาน Wi‑Fi Sense ได้นะครับ ไมโครซอฟท์เขาได้กำหนดเงื่อนไขให้คุณต้องทำดังนี้
- ต้องลงชื่อเข้าใช้ด้วยบัญชี Microsoft เช่น บัญชีของ Outlook หรือ Hotmail เป็นต้น
- Wi‑Fi Sense มีให้ใช้งานได้บน Windows 10 เท่านั้น แต่คุณกำลังใช้ Windows 7 หรือ 8.1 ของแท้และอยากใช้ Wi‑Fi Sense ไมโครซอฟท์ให้คุณ อัปเกรด Windows 10 ฟรี (จำกัดเวลา) ครับ
- ปัจจุบัน Wi‑Fi Sense พร้อมให้ใช้งานในบางประเทศหรือบางภูมิภาคเท่านั้น
แล้ว Wi‑Fi Sense มีข้อดีหรือข้อเสียแบบไหนและอย่างไร?
ข้อดีของ Wi‑Fi Sense
เริ่มต้นที่ข้อดีก่อน: Wi‑Fi Sense ช่วยให้ให้คุณสามารถออนไลน์ได้เร็วขึ้นเมื่อคุณอยู่ในสถานที่ต่างๆ โดยระบบนี้สามารถเชื่อมต่อคุณเข้ากับ Wi-Fi ฮอตสปอตแบบเปิดที่ระบบรู้จัก หรือเชื่อมต่อกับเครือข่าย Wi-Fi ที่รายชื่อผู้ติดต่อของคุณแชร์กับคุณผ่าน Wi-Fi Sense ในทันทีโดยไม่ต้องทำการเชื่อมต่อหรือลงชื่อเข้าให้เสียเวลา
ฟังดูเหมือนว่า Wi‑Fi Sense จะมีแต่ข้อดี แต่ความจริงแล้วไม่ใช่ครับ มันมีข้อเสียเหมือนกันและเป็นข้อเสียร้ายแรงที่ไม่อาจมองข้ามหรือละเลยได้เสียด้วย
ข้อเสียของ Wi‑Fi Sense
มีคำพูดที่ว่าอะไรที่สะดวกมักจะไม่ค่อยปลอดภัยเท่าไหร่ และ Wi‑Fi Sense ก็หนีไม่พ้นหลักการดังกล่าว ข้อเสียแรกของ Wi‑Fi Sense คือเปิดใช้งานโดยเริ่มต้น และเนื่องจากการที่ระบบจะทำการเชื่อมต่อคุณเข้ากับ Wi-Fi ฮอตสปอตโดยอัตโนมัตินั้นระบบต้องทำการเก็บรหัสผ่าน (หรือ Passkey หรือ Network Security Key) ไว้บนเซิร์ฟเวอร์ของไมโครซอฟท์บนอินเทอร์เน็ตและจะต้องส่งลงมาให้กับเครื่องที่ทำการต่อเครือข่ายผ่าน Wi‑Fi Sense การทำงานลักษณะนี้เป็นข้อดีหากมองในด้านความสะดวกแต่ในด้านความปลอดภัยมันคือจุดอ่อนอย่างร้ายแรงเพราะอาจมีแฮกเกอร์ดักข้อมูลรหัสผ่านดังกล่าวได้ และถึงแม้ว่ารหัสผ่านจะถูกเข้ารหัสแต่มีโอกาสที่จะถูกถอดรหัสได้ไม่ยากในปัจจุบัน (อ่านถึงตรงนี้หลายคนคงเริ่มรู้สึกว่า “ชักไม่ค่อยดีแล้ว”)
ความเสี่ยงเกี่ยวรหัสผ่านยังไม่หมดแค่นั้น เนื่องจากผู้ใช้อินเทอร์เน็ตส่วนใหญ่จะตั้งรหัสผ่านทุกระบบเหมือนกัน ดังนั้นถ้าแฮกเกอร์ได้รหัสผ่าน Wi-Fi ฮอตสปอต ก็มีโอกาสเป็นไปได้ที่จะได้รหัสผ่านของระบบหรือบริการอื่นๆ เช่น Facebook เป็นต้น ของผู้ใช้คนนั้นได้
นอกจากนี้ Wi‑Fi Sense ยังทำให้เกิดปัญหาการแชร์ Wi‑Fi โดยไม่ได้รับอนุญาตหรือการแชร์ Wi‑Fi ต่อเนื่องเป็นลูกโซ่ได้อีกด้วย เนื่องจากบน Windows 10 เมื่อคุณเชื่อมต่อกับ Wi-Fi ฮอตสปอตแบบเปิด คุณสามารถเลือก Share network with my contacts เพื่อทำการแชร์ Wi-Fi ให้กับเพื่อนๆ ของคุณได้
รูปที่ 1
วิธีการปิด Wi-Fi Sense บน Windows 10
เนื่องจากไมโครซอฟท์หวังดีอยากให้ผู้ใช้ Windows 10 ออนไลน์ได้สะดวกรวดเร็วจึงเปิดใช้งาน Wi-Fi Sense โดยเริ่มต้น แต่จากกระแสความเห็นที่กังวลเกี่ยวกับความปลอดภัยที่อาจทำให้รหัสผ่านหลุดหรือถูกแฮกได้จึงทำให้ผู้ใช้บางคนรู้สึกไม่ค่อยสบายใจมากนัก และถ้าคุณต้องการปิด Wi-Fi Sense ให้คุณทำตามขั้นตอนดังนี้
!บทความนี้อ้างอิง Windows 10 Version 1511 (November Update) เวอร์ชันพรีวิว
1. คลิก Start หรือกดปุ่ม Windows บนแป้นพิมพ์ จากนั้นคลิก Settings หรือคลิกไอคอน Notification บทแถบงานแล้วคลิก All settings
ทิป: สามารถเปิดหน้า Settings ได้โดยใช้แป้นพิมพ์ลัด Windows + I
รูปที่ 2
2. บนหน้า Settings ให้คลิก Network & Internet
รูปที่ 3
3. บนหน้า Network & Internet ในบานหน้าต่างนำทางด้านซ้ายมือให้คลิก Wi-Fi จากนั้นด้านขวามือให้คลิก Manage Wi-Fi settings
รูปที่ 4
4. บนหน้า Manage Wi-Fi settings ถ้า Wi-Fi Sense Connect to suggested open hotspots และ Connect to networks shared by my contacts ถูกตั้งค่าเป็น “On” แสดงว่าเครื่องคุณมีการเปิดใช้งาน Wi-Fi Sense ให้คุณทำการปิดโดยเลื่อนให้เป็น “Off” เสร็จแล้วให้ปิด Settings
รูปที่ 5
วิธีการด้านบนเป็นการปิด Wi-Fi Sense ในเครื่องลูกข่าย (เครื่องโน้ตบุ๊คหรือแท็บเล็ต Windows 10) แต่ถ้าคุณต้องการปิดไม่ให้ Wi-Fi ฮอตสปอตของคุณเข้าร่วมกับ Wi-Fi Sense คุณต้องทำการเพิ่ม “_optout” (ไมรวมเครื่องหมายคำพูดนะครับ) เข้ากับชื่อเครือข่าย Wi-Fi หรือ SSID ของคุณ โดยคุณต้องทำบนเราเตอร์ Wi-Fi ตามขั้นตอนที่ไมโครซอฟท์อธิบายไว้ใน คำถามที่ถามบ่อยเกี่ยวกับ Wi-Fi Sense ครับ
สรุป
ข้อดีและข้อเสียของ Wi‑Fi Sense เปรียบได้กับคนละด้านของเหรียญอันเดียวกันซึ่งคุณจะเลือกพิจารณาเพียงด้านใดด้านหนึ่งไม่ได้ ดังนั้นถ้าคุณต้องการใช้ Wi‑Fi Sense แนะนำให้ใช้ด้วยความระมัดระวังและใช้ในกรณีจำเป็นที่สุด แต่ถ้าคุณไม่ต้องการใช้ก็ควรปิดการใช้งานไว้จะเป็นการปลอดภัยกว่าครับ
ประวัติการปรับปรุง
12 กุมภาพันธ์ 2560: ปรับปรุงเนื้อหาเพิ่มลิงก์ “วิธีเปิดหรือปิด Wi-Fi Sense บน Windows 10 Version 1607”
6 กันยายน 2558: เผยแพร่ครั้งแรก