การติดตั้งอุปกรณ์ให้ได้ระดับขนานกับแนวพื้นโลกอย่างแม่นยำไม่สามารถอาศัยเพียงการดูด้วยสายตาได้ ต้องใช้อุปกรณ์วัดระดับช่วยในการวัด ซึ่งอุปกรณ์ดังกล่าวรู้จักกันในชื่อ “ระดับน้ำ” มีให้เลือกซื้อหลากหลายยี่ห้อและราคา ตั้งแต่หลักสิบบาทจนถึงหลักหลายพันบาท โพสต์นี้จึงขอแชร์ประสบการณ์การใช้งานระดับน้ำตอปิโด Kapro 227C ซึ่งเหมาะสำหรับงาน DIY ทั่วไปครับ
Kapro 227C
Kapro 227C เป็นระดับน้ำตอปิโด ผลิตจากพลาสติก ขนาด 9 นิ้ว (23 เซนติเมตร) เป็นผลิตภัณฑ์ในเครือบริษัท Kapro Industries ประเทศอิสราเอล (แต่อุปกรณ์ตัวนี้น่าจะผลิตในจีนหรือเอเชียตะวันออกเฉียงใต้) มีคุณลักษณะทางเทคนิค ดังนี้:
- มีลูกน้ำฟองยาว 3 ลูก รองรับการวัดระดับได้ 3 แนว ได้แก่ แนวราบ, แนวดิ่ง และแนว 45 องศา
- แม่เหล็กที่ฐานเป็นร่องตัววี ยาวตลอดแนว เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการยึดติดชิ้นงานสำหรับยึดติดท่อเหล็ก
- ปลายทั้ง 2 ด้านมียางป้องกันการตกกระแทก เพิ่มความสะดวกในการจับ และยังสามารถใช้เป็นที่แขวนได้
ขนาด
Kapro 227C มีขนาด กว้าง x สูง x หนา เท่ากับ 230 มม. x 40 มม. x 18 มม.
การใช้งาน
จากประสบการณ์การใช้งานระดับน้ำ Kapro 227C มาได้ระยะหนึ่ง สรุปความเห็นได้ดังนี้:
ข้อดี:
- ผลิตจากวัสดุคุณภาพ มีความแข็งแรงและทนทาน
- ตัวเครื่องเป็นทรงสี่เหลี่ยมยาว ทำให้หยิบใช้งานได้ง่ายและถนัดมือ
- ขนาดเล็ก พกพาง่ายและใช้งานในพื้นที่จำกัดได้สะดวก
- ยางป้องกันการตกกระแทกปลายทั้ง 2 ด้าน ออกแบบให้จับใช้งานได้โดยใช้เพียง 2 นิ้ว และมีปุ่มกันลื่นทำให้จับได้อย่างมั่นใจ
- วัดระดับได้ 3 แนว แนวราบ แนวดิ่ง และแนวเอียง 45 องศา
- แม่เหล็กที่ฐานยาวตลอดแนว ทำให้มีแรงดึงดูดสูง ใช้งานกับงานเล็กงานท่อได้ดี
- ตัวเครื่องสีแดง สังเกตเห็นได้ง่าย ลดโอกาสหาย
- ราคาไม่แพง เหมาะกับงาน DIY หรือมือสมัครเล่น
ข้อสังเกต:
- ทำจากวัสดุพลาสติก เป็นรอยขีดข่วนได้ง่าย และอาจแตกหักได้หากตกจากที่สูง
สรุป
แม้ว่า Kapro 227C ผลิตจากพลาสติก แต่จับแล้วรู้สึกได้ว่าใช้วัสดุมีมาตรฐาน ด้วยขนาดที่เล็กเพียง 23 เซนติเมตร ทำให้ผมหยิบ Kapro 227C ออกมาใช้งานมากกว่าระดับน้ำอีกตัวที่เป็นอะลูมิเนียมขนาด 40 เซนติเมตร
ใครกำลังหาระดับน้ำสำหรับใช้งาน DIY ที่มีคุณภาพ ราคาไม่สูง และพกพาสะดวก ลองพิจารณา Kapro 227C ดูครับ และถ้าใครสนใจระดับน้ำตัวนี้ ผมไม่มีขายนะครับ สามารถค้นหาในแอปต่าง ๆ ราคาที่ผมได้มา 1xx บาท (ใช้โค้ดส่งฟรี)
ประวัติการเผยแพร่บทความ
20 มกราคม 256ค : รีวิว/ปรับปรุงเนื้อหา
13 กันยายน 2566 : เผยแพร่ครั้งแรก